วันอังคารที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2557

อาหารไม่ย่อย : Dyspepsia


อาหารไม่ย่อย (Dyspepsia, Indigestion) คือ อาการของผู้ป่วยที่อาหารไม่ย่อย จะมีอาการจุกเสียด แน่นท้อง
โดยมากมักจะเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารของผู้ป่วย เช่น การรับประทานอาหารมากเกินไป หรือเร็วเกินไป
อาหารที่มันๆ เลี่ยนๆ หรืออาหารรสเผ็ดจัด นอกจากเรื่องของการรับประทานอาหารแล้ว เรื่องของความเครียดก็มีส่วนทำให้เกิดด้วยเช่นกัน



อาการที่เกิดขึ้นนั้นไม่เพียงแต่แสดงความผิดปรกติ หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับกระเพาะอาหารและลำไส้
แต่อาจจะเป็นอาการของโรคอื่นๆ เช่น โรคหัวใจล้มเหลว วัณโรคปอด มะเร็ง และภาวะโลหิตเป็นพิษจากภาวะไตวาย เป็นต้น

สาเหตุที่จะส่งผลให้อาการจุกเสียด แน่นท้องทวีความรุนแรงมากขึ้น ได้แก่ ความเครียด ความเหนื่อยล้า การรับประทานอาหารไม่เพียงพอ การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ และขาดการออกกำลังกาย

อาการปวดแน่นท้อง ไม่สบายท้องนั้นสาเหตุนึงมาจากอาหารไม่ย่อยแล้ว อาจจะเป็นตัวชี้ว่าผู้ป่วยอาจจะมีโรคอื่นๆแอบแฝงอยู่ด้วยก็เป็นได้ ดังนั้นเมื่อมีอาการก็ควรจะใส่ใจรักษาโรคตั้งแต่เนิ่นๆ


แผนผังสำหรับวิเคราะห์ อาการอาหารไม่ย่อย




คำแนะนำผู้ป่วย

  • ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการโค้งงอตัว หรือนอนราบหลังรับประทานอาหาร
    เพื่อช่วยป้องกันกรดไหลย้อน ทำให้แสบที่ อกได้
  • ควรงดเคี้ยวหมากฝรั่ง เพื่อไม่ให้อากาศ หรือแก๊ส เข้าสู่กระเพาะมากขึ้น
  • ไม่ควรรับประทานอาหารที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร
    ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเผ็ดจัด หรือ มันมากจนเกินไป
  • ควรงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะทำให้อาหารไม่ย่อย
  • ไม่ควรสวมใส่เข็มขัดที่รัดแน่นจนเกินไป
  • ควรหลีกเลี่ยงจากสภาวะเครียด เพราะจะส่งผลให้อาการอาหารไม่ย่อยรุนแรงมากขึ้น
  • ในขณะรับประทานอาหาร ควรเคี้ยวให้ละเอียด และไม่ควรกินเร็ว เพราะจะส่งผลให้อาหารไม่ย่อย หรือย่อยยากมากขึ้น
  • ควรรีบปรึกษาแพทย์ หากพบว่ามีอาการผิดปรกติที่รุนแรงมากขึ้น หรือถ้ามีอาการปวดท้องที่บ่อยขึ้น นานขึ้น เพื่อหาสาเหตุและรักษาได้ถูกต้อง
  • การใช้ยาลดกรดจะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดที่เกิดจากแผลในกระเพาะอาหารได้ และอาจจะส่งผลให้แผลสมานเร็วขึ้น
  • ถ้าผู้ป่วยได้รับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมแล้วว่าเป็นอาการอาหารไม่ย่อย และไม่มีแผลในกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยควรจะตรวจสุขภาพทั่วไปเพิ่มเติม เพื่อให้แน่ใจได้ว่าผู้ป่วยไม่มีโรคร้ายแรงอื่นๆ แอบแฝงอยู่

ผมเคยเป็นโรคกรดไหลย้อน (GERD) นอกจากจะมีอาการหลังจากที่ทานอาหารเสร็จแล้ว ในบางครั้งเมื่อเรานอนแล้วตื่นมาในตอนเช้า เรารู้สึกแสบคอเป็นอย่างมาก เนื่องจากกรดมันไหลย้อนขึ้นมายังบริเวณลำคอ แต่ถ้าเราไม่รู้ว่าเราเป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารนี้ เราจะนึกไปว่า เราเจ็บคอและอาจจะทำให้วินิจฉัยได้ผิดที่ และเราก็จะแสบคอ เจ็บคอ อยู่เรื่อยไป

ขอให้ทุกคนสุขภาพแข็งแรงปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บกันนะครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น