วันพุธที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2557

สับสนทางเพศ

คำว่า "สับสนทางเพศ" ผู้คนมักจะนึกถึง กระเทย ตุ๊ด เกย์ ทอม ดี้ เนื่องจากค่านิยมเดิมๆ ถ้ามีการแสดงออกทางเพศที่ผิดแผกไปจาก ชายรักหญิง หรือ หญิงรักชาย หรือมีการแสดงออกทางเพศที่ไม่ค่อยจะตรงกับเพศที่ได้รับมาแต่กำเนิด เราก็มักจะเรียกพวกเขาเหล่านั้นว่า เป็นผู้มีความสับสนทางเพศทันที ซึ่งวันนี้จะมาแสดงออกถึงมุมมองของคำว่า "สับสนทางเพศ" ในอีกมุมมองหนึ่ง

สับสนแต่กำเนิด
  ความสับสนตรงนี้เกิดจากพัฒนาการทางร่างกายที่ผิดปกติ จะกระทั่งทำให้มีสภาพอวัยวะเพศที่กำกวม ซึ่งบางครั้งก็ส่งผลให้แพทย์ที่ทำคลอดนั้นเข้าใจผิด จนถึงขั้นว่าไม่สามารถตัดสินเพศได้ก็มี ซึ่งกรณีแบบนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

  1. ภาวะกระเทยแท้ (Hermaphroditism)
  2. ภาวะกระเทยเทียม (Pseudo-Hermaphrodite)

1.) ภาวะกระเทยแท้ (Hermaphroditism)
    คือสภาวะของคนที่เกิดมาพร้อมกับมีระบบสืบพันธุ์ทั้งสองเพศ เนื่องจากเซลล์อวัยวะเพศของเพศใดเพศหนึ่ง ไม่เหี่ยวสลายตัวไปตามที่ควรจะเป็นในช่วงพัฒนาการระยะตัวอ่อน โดยชื่อภาษาอังกฤษนี้ได้มาจากเทพนิยายกรีกโบราณ นั่นคือ Hermaphroditus ซึ่งรวมร่างกับเทพธิดา Salmacis รวมกันเป็นร่างเดียวและมีอวัยวะเพศทั้ง 2 เพศ
อ่านเรื่องเล่า ตำนานของ Hermaphroditus 

Hermaphorditus ที่มีหน้าอกและอวัยวะเพศชาย
ลักษณะที่สำคัญของกระเทยแท้คือมีโครโมโซม XY ส่วนใหญ่มีมดลูก มีรังไข่ และท่อรังไข่ด้านหนึ่ง ส่วนอีกด้านหนึ่งมีอัณฑะ และท่ออสุจิ รูปร่างของอวัยวะเพศภายนอกจึงดูคลุมเครือ และพบว่าเด็กราวๆ 2 ใน 3 จะถูกเลี้ยงมาแบบเด็กผู้ชาย ด้วยสาเหตุมาจาก ปุ่ม Clitoris มีขนาดใหญ่มากจนดูเหมือนรูปร่างขององคชาต แต่พอเข้าสู่วัยรุ่น ก็จะเริ่มพบปัญหาใหม่ เพราะจะเริ่มมีหน้าอกและมีประจำเดือน  แต่อย่างไรก็ตาม กระเทยแท้นั้นพบได้น้อยมาก

2.) ภาวะกระเทยเทียม (Pseudo-Hermaphrodite)
       กลุ่มนี้มีโครโมโซม XX และ XY พร้อมระบบสืบพันธุ์ภายในที่ถูกต้องตรงตามลักษณะพันธุกรรม แต่อวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกคลุมเครือ หรือตรงกันข้ามกับลักษณะทางพันธุกรรม แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

        2.1 ) ในเพศหญิงเรียกอาการดังกล่าวว่า Adrenogenital Syndrome (AGS) หรือ อีกชื่อหนึ่งคือ Congenital Adrenal Hyperplasia ซึ่งอาการดังกล่าวเกิดจาก ต่อมหมวกไตผลิตฮอร์โมนเพศชายมากเกินไปในช่วงพัฒนาการของตัวอ่อนในครรภ์ ทำให้อวัยวะเพศดูคล้ายผู้ชาย จนบางครั้งแพทย์ที่ทำคลอดเองก็เข้าใจผิดคิดว่าทารกเป็นผู้ชาย ถ้าปัญหานี้ไม่ถูกตรวจพบและแก้ไข ต่อมหมวกไตก็จะผลิตฮอร์โมนเพศชายต่อไป
      สำหรับการแก้ไขปัญหานี้ทำได้ด้วยการฉีดฮอร์โมน Cortisone และการศัลยกรรมอวัยวะเพศให้หายคลุมเครือ ซึ่งจะทำให้คนไข้เติบโตขึ้นเป็นผู้หญิงปกติทั่วไป แต่ก็มีรายงานบ้างว่า บางคนมีลักษณะเป็นทอมบอย แต่ส่วนใหญ่เป็นรักต่างเพศ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าการรักษาด้วยฮอร์โมน Cortisone นั้นทำให้ความต้องการทางเพศลดลง

       2.2 ) ในเพศชายเรียกอาการดังกล่าวว่า Androgen Insensitivity Syndrome บางทีก็เรียกว่า Testucular Feminization Syndrome กรณีนี้เกิดจากอัณฑะผลิตฮอร์โมน Testosterone ปกติ แต่เนื้อเยื่อของร่างกายไม่ตอบสนอง ทำให้อวัยวะเพศหญิงพัฒนาการขึ้นมาโดยปราศจากระบบสืบพันธุ์ภายในที่เป็นผู้หญิง บุคคลประเภทนี้จะถูกเลี้ยงดูขึ้นมาเป็นเพศหญิงตามลักษณะภายนอก จนกระทั่งเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น เด็กจะไม่มีประจำเดือน และเราจะทราบความผิดปรกตินี้ได้หลังจากการตรวจรักษา นอกจากนี้แล้ว อัณฑะที่ไม่มีการพัฒนาการอย่างชัดเจน ยังเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง แพทย์ส่วนใหญ่จึงตัดออก ซึ่งบุคคลเหล่านี้ทั้งรูปร่างและพฤติกรรมจะเป็นผู้หญิง เพียงแต่ให้กำเนิดบุตรไม่ได้ แต่สามารถเป็นแม่ที่ดีได้ มีเสน่ห์ดึงดูดทางเพศและมีลักษณะผู้หญิงชัดเจน

เพิ่งเริ่มสับสน
    อวัยวะเพศภายนอกแสดงออกมาชัดเจนว่าเป็นเพศไหน แต่เมื่อโตขึ้นแล้วจึงค่อยๆเกิดความสับสนระหว่างเพศทางร่างกายที่ติดตัวมาแต่กำเนิด กับเพศที่เจ้าของร่ายกายนั้นคิดว่าตัวเองเป็น ซึ่งสาเหตุของอาการนี้ ยังไม่ทราบแน่ชัด ในทางการแพทย์เรามีวิธีการรักษาสำหรับผู้ที่ต้องการเปลี่ยนเพศทางกายให้ตรงกับเพศทางใจ เรียกว่า Sexual Reassignment หรือการผ่าตัดแปลงเพศนั่นเอง แบบที่ได้รับความนิยมและผลหลังการผ่าตัดที่ได้เป็นที่พึงพอใจ ทั้งในเรื่องของความงามและการใช้งาน คือ การผ่าตัดเปลี่ยนเพศจากชายเป็นหญิง ซึ่งเปลี่ยนได้เฉพาะลักษณะทางเพศภายนอกเท่านั้น อวัยวะเพศภายใน การให้กำเนิดบุตร และโครโมโซม ไม่สามารถเปลี่ยนไปจากเพศดั้งเดิมได้
ส่วนในการเปลี่ยนจากเพศหญิงไปเป็นเพศชายนั้น การผ่าตัดจะยากมากกว่า และผลที่ได้ก็ยังไม่ค่อยจะใกล้เคียงธรรมชาติสักเท่าไหร่นัก

ทางการแพทย์ได้ให้คำอธิบายสำหรับเรื่องนี้ (Gender Identity Disorder) โดยใช้เกณฑ์ในการวินิจฉัยดังนี้

1.) การเอาอย่างเพศตรงข้ามอย่างชัดเจนและเป็นอยู่ตลอด (ไม่ใช่เป็นเพียงแต่ความต้องการในการได้เปรียบ จากการกลายเป็นอีกเพศหนึ่งตามวัฒนธรรมนั้นๆ)  สำหรับในเด็ก ความผิดปกติประกอบด้วยลักษณะต่อไปนี้ ตั้งแต่ 4 ข้อขึ้นไป

  • แสดงความต้องการเป็นเพศตรงข้ามอยู่เสมอ หรือยืนยันว่าตนเองเป็นเพศตรงข้าม
  • ในเด็กชาย พบชอบแต่งตัวด้วยชุดของผู้หญิง หรือคล้ายกับชุดของผู้หญิง ในเด็กหญิงมีการยืนยันว่าจะใส่แต่ชุดที่ใส่กันเฉพาะเพศชาย
  • ชอบเล่นเป็นเพศตรงข้าม ในการละเล่นแบบสมมุติ หรือมีจินตนาการว่าเป็นเพศตรงข้าม โดยจะเป็นอยุ่ตลอด
  • ต้องการร่วมในเกมที่เป็นของเพศตรงข้าม หรือมีงานอดิเรกแบบเพศตรงข้าม
  • ต้องการที่จะมีเพื่อนคู่หูเป็นเพศตรงข้ามอย่างมาก
    ในวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ ความผิดปกติแสดงออกโดยอาการต่างๆ เช่น แสดงความต้องการเป็นเพศตรงข้ามอยู่เสมอ มักปัสสาวะแบบเพศตรงข้าม ต้องการใช้ชีวิตหรือได้รับการปฎิบัติจากผู้อื่นแบบเพศตรงข้าม หรือมีความเชื่อฝังในว่าตนเองมีความรู้สึกหรือปฎิกิริยาต่างๆ ดังที่เพศตรงข้ามเป็น

2.) มีความอึดอัดไม่สบายใจกับเพศของตน หรือมีความรู้สึกว่าบทบาทตามเพศของตนเองนั้นไม่เหมาะสมอยู่ตลอด
    ในวัยเด็ก ความผิดปกติอันนี้ประกอบด้วยลักษณะใดๆดังต่อไปนี้  เช่น ในเด็กชายยืนยันอยู่เสมอว่าองคชาติหรืออัณฑะของตนเองนั้นน่ารังเกียจหรือจะหดหายไปในช่วงวัยรุ่น หรือตอนเป็นผู้ใหญ่ ความผิดปกติแสดงออกทางอาการเช่น หมกมุ่นกับการกำจัดลักษณะที่บ่งบอกทางเพศดั้งเดิม หรือเชื่อว่าตนเองเกิดมาผิดเพศ

3.) ความผิดปกตินี้ไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกับภาวะที่มีลักษณะกายภาพทางเพศกำกวม

4.) ความผิดปกตินี้ก่อให้ผู้ป่วยมีความทุกข์ทรมานอย่างมีนัยสำคัญทางการแพทย์ หรือทำให้กิจกรรมด้านสังคม การงาน หรือด้านอื่นๆที่สำคัญบกพร่องลง

ทั้งหมดที่กล่าวมายังไม่ใช่ทั้งหมด มันยังมีในอีกหลายแง่มุม ซึ่งจะได้เอามาให้อ่านกันภายหลัง



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น