วันอาทิตย์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2557

ยาสำหรับการเดินทาง

ยาสำหรับการเดินทาง

สำหรับทุกคนที่กำลังวางแผนการเดินทาง ไม่ว่าจะเนื่องด้วยเรื่องของธุรกิจ เช่น การประชุม สัมนา รวมไปถึงการเดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อน นอกจากเรื่องของเสื้อผ้าและของใช้ส่วนตัวอื่นๆแล้ว สิ่งหนึ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ไม่อยากให้ลืมก็คือ เรื่องของยา  เราไม่ควรประมาท หากเจ็บป่วยระหว่างการเดินทางขึ้นมาแล้วการไปหาซื้อยาในที่ๆไม่คุ้ยเคย หรือ การไปหาหมอในต่างประเทศ คงไม่ง่ายไปกว่าท่านเตรียมยาไปเองครับ

คำถามที่มักจะถามกันเกี่ยวกับเรื่องของ ยาสำหรับการเดินทาง
Q : ถ้าจะเดินทาง เราควรจะเตรียมยาอะไรติดตัวไปบ้าง

หลักการพื้นฐานที่สุดก็คือ

  • เตรียมยารักษาโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ก็นำยาที่เกี่ยวกับเบาหวานไปด้วย
  • เตรียมยารักษา หรือ บรรเทาอาการเจ็บป่วยที่พบบ่อยๆ ระหว่างเดินทาง อันได้แก่ ปวดศรีษะ แพ้อากาศ จาม น้ำมูกไหล ท้องเสีย ผื่นแพ้คัน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เป็นต้น
  • กรณีที่ไม่ได้มีโรคประจำตัวใดๆ ก็สบาย เพียงแค่เตรียมยาบรรเทาอาการเจ็บป่วยที่มีโอกาสเกิดขึ้น เช่น เมารถ เมาเรือ แมลงสัตว์กัดต่อย (ทาถูๆ) บาดแผลทั่วไป แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ซึ่งสรุปง่ายๆก็คือที่เราเรียก ยาสามัญประจำบ้าน นั่นเอง 
  • นอกจากยา ที่จะบรรเทาอาการเจ็บป่วยโดยทั่วไปแล้ว อาจจะพิจารณารายการยาให้เหมาะสมกับช่วงสภาพภูมิอากาศหรือภูมิประเทศในการเดินทางด้วย เช่น หนาวจัด ที่สูงจัด ร้อนจัด ลงทะเล เข้าป่า เป็นต้น
ก็เพียงแค่ท่านพก และ นำมันออกจากบ้านไปกับท่านด้วย เท่านี้ก็อุ่นใจขึ้นเยอะ

Q : ยาแก้ปวดลดไข้

          ยาแก้ปวดลดไข้ที่ควรพกติดตัวท่านไป แบบพื้นๆที่สุดคงหนีไม่พ้น พาราเซตามอล เพราะมันไม่เพียงแต่บรรเทาอาการปวดศรีษะจากพิษไข้ แต่มันยังสามารถบรรเทาอาการปวดข้อเข่าที่เกิดจากข้อเข่าเสื่อมสำหรับผู้สูงวัยได้ด้วย  แต่ถึงแม้ว่ายาพารา จะถูกมองว่าเป็นยาที่มีความปลอดภัยและหาซื้อได้ง่ายก็ตาม แต่หากใช้มากเกินไปก็อาจจะเกิดอันตรายได้

ปริมาณการใช้ยาลดไข้ ที่พึงระวัง
          ขนาดยาสูงสุดต่อวันที่รับได้คือไม่เกิน 4000 มิลลิกรัม (และเชื่อว่าถ้าคุณกินในระดับที่ใกล้กับ 4000 มิลลิกรัมต่อวันนี่แสดงว่าคุณคงเป็นโรคอะไรที่ต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วนแล้วหละ) ดังนั้นหากคุณซื้อยาพาราในท้องตลาดที่มักจะมีขนาด 500 มิลลิกรัมต่อเม็ด คุณก็ไม่ควรจะทานเกินวันละ 8 เม็ด (นอกจาก 500 มิลลิกรัมแล้ว มันยังมีรุ่น 800 มิลลิกรัม กรุณาอ่านฉลากยากให้ดีก่อนด้วย)

ยาแบบผสมตัวยา
      แม้ว่าคุณจะคำนวนมาอย่างดี ว่าคุณกินพาราไม่เกิน 8 เม็ด แต่บางครั้งเมื่อคุณกินยาอีกชนิด เช่น ยาแก้หวัดคัดจมูก บางครั้งมันก็อาจจะมีส่วนผสมของพาราเซตามอล ร่วมด้วยก็ได้และมันจะทำให้คุณกินพารา เกินกว่าขนาดที่ควรจะเป็นโดยไม่รู้ตัว ฉะนั้นก่อนกินยา ก็ควรสละอ่านฉลากยาสักนิด เพื่อจะได้ปลอดภัย

ระยะเวลาการใช้ยาต่อเนื่อง
       นอกจากเรื่องของปริมาณตัวยาแล้ว เราไม่ควรจะทานพาราเซตามอล ติดต่อกันเกิน 5 วัน เพราะนั่นหมายถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับตับคุณ

Q : ยาแก้แพ้อากาศ จาม น้ำมูกไหล
      ยาที่นิยมใช้กันมาก นั่นคือ ยาลดน้ำมูก แก้แพ้อากาศที่มีตัวยาที่ชื่อ คลอร์เฟนิรามีน โดยที่ตัวยานี้จะมีสรรพคุณใช้ได้ตั้งแต่บรรเทาอาการแพ้อากาศ  อาการจาม ลดน้ำมูก รวมไปถึงผื่นแพ้คัน ลมพิษ
แต่ทว่ามันมีผลข้างเคียงคือ  อาการง่วงซึม และ ปากคอแห้ง (ส่วนปากคอเราะร้ายนี่ไม่เกี่ยวนะจ๊ะ)

แต่ในปัจจุบันนี้ นิยมใช้ยาแก้แพ้อากาศที่ไม่มีฤทธิ์ในการทำให้เกิดอาการง่วงซึม มาแทนยารุ่นเดิม เช่น ตัวยา ลอราทาดีน (loratadine)  เซทิริซิน (cetirizine) ฟีโซฟีนาดีน (fexofenadine)  ยากลุ่มนี้แม้จะมีข้อดีตรงไม่ออกฤทธิ์ให้ง่วง รับประทานเพียงแค่วันครั้ง แต่เห็นผลช้ากว่ายารุ่นเก่าชัดเจนอยู่เหมือนกัน

Q : ยาแก้เมารถ เมาเรือ
     ผู้ที่มีปัญหาเมารถ เมาเรือทำให้เกิดอาการวิงเวียนศรีษะ และ/หรือ อาการคลื่นไส้ อาเจียน ในขณะเดินทาง ก็อาจจะพกยาชื่อว่า ไดเมนไฮดริเนท (dimenhydrinate)

การใช้ยาแก้เมารถ เมาเรือ
    ยานี้ต้องรับประทานก่อนออกเดินทาง 30 นาที และหากเดินทางยาวนานอาจจะต้องรับประทานซ้ำทุกๆ 6-8 ชั่วโมง  และมีข้อเสีย คือ อาการง่วงซึม ปากคอแห้ง และหากรับประทานร่วมกับยาแก้แพ้แล้วหละก็ มันก็อาจจะเสริมฤทธิ์กันทำให้เกิดอาการข้างเดียงดังกล่าวสูงขึ้นอีก



สำหรับผู้ที่กำลังมีแผนการจะเดินทางไป เที่ยวประเทศญี่ปุ่น ถ้าไปช่วงหน้าหนาว ที่อากาศค่อนข้างหนาวจัด อย่าลืมรักษาร่างกายให้อบอุ่น และ พกยาแก้ปวดหัว ปวดท้องไปด้วยนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น